7 สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในอิบารากิที่วัฒนธรรมซามูไรยังคงแข็งแกร่ง

ประวัติศาสตร์

7 สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในอิบารากิที่วัฒนธรรมซามูไรยังคงแข็งแกร่ง

จังหวัดอิบารากิมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากมายอย่างสถานที่เที่ยวชื่อดังซึ่งเกี่ยวข้องกับตระกูลโทคุกาวะที่กุมอำนาจสูงสุดในญี่ปุ่นช่วงสมัยเอโดะ บทความนี้ขอแนะนำสถานที่เที่ยวชื่อดังต่างๆ ที่สามารถสัมผัสได้ถึงเรื่องราวในสมัยเอโดะ เช่น ซากปราสาทมิโตะ โคโดคัง และสวนไคราคุเอน

ตระเวนเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดอิบารากิ (Ibaraki)

รากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นในปัจจุบันส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) ในสมัยที่โทคุกาวะบาคุฟุกุมอำนาจสูงสุด โชกุนโทคุกาวะ อิเอยาซุ (ค.ศ. 1543 – 1616) ผู้ทำให้สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนานสิ้นสุดลงและก่อตั้งเอโดะบาคุฟุ ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุดของไดเมียวในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ ประเทศญี่ปุ่นจึงสงบสุข ทำให้เศรษฐกิจและวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมายาวนานกว่า 250 ปี

โทคุกาวะ อิเอยาซุและเอโดะบาคุฟุมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ท่านที่อยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสมัยเอโดะและประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นเพิ่มเติม ขอแนะนำให้ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดอิบารากิ เมืองมิโตะ (Mito) เมืองศูนย์กลางของจังหวัดอิบาริกิเดิมเป็นเมืองหลวงของแคว้นมิโตะที่ปกครองโดยตระกูลโทคุกาวะ มีซากปราสาทและอาคารโรงเรียนเก่าของขุนนางมากมาย

บทความนี้ขอแนะนำ 7 สถานที่เที่ยวขึ้นชื่อที่สามารถเรียนรู้เรื่องราวสมัยเอโดะที่วัฒนธรรมซามูไรเฟื่องฟู

1. พิพิธภัณฑ์โทคุกาวะ (The Tokugawa Museum)

ที่พิพิธภัณฑ์โทคุกาวะ นอกจากทรัพย์สินส่วนตัวของโทคุกาวะ อิเอยาซุแล้ว ยังมีการจัดแสดงทรัพย์สินของตระกูลโทคุกาวะที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นราว 30,000 ชิ้น สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์รวมถึงเสื้อผ้า อุปกรณ์ชงชา เอกสารโบราณ และงานศิลปหัตถกรรมทั้งหมด จะบ่งบอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวโชกุนและตระกูลมิโตะ

ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งท่านที่อยากรู้เรื่องราวของตระกูลโทคุกาวะซึ่งกุมอำนาจสูงสุดในญี่ปุ่นช่วงสมัยเอโดะอย่างยาวนานเพิ่มเติมไม่ควรพลาด

ข้อมูล

พิพิธภัณฑ์โทคุกาวะ (The Tokugawa Museum)

พิพิธภัณฑ์โทคุกาวะ (The Tokugawa Museum)

สร้างขึ้นในปี 1977 โดยมูลนิธิซุยฟุ-เมโทคุไค (Suifu–Meitokukai Foundation) จัดแสดงทรัพย์สินส่วนตัวและงานเขียนโบราณต่างๆ ของไดเมียว ซึ่งคุนิยุคิ โทคุกาวะ ไดเมียว (ผู้ปกครองแคว้น) ลำดับที่ 13 ของแคว้นมิโตะได้มอบให้
มีผลงานต่าง ๆ ไปราว 30,000 ชิ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอิเอยาสุ โทคุกาวะ (โชกุนคนแรกของญี่ปุ่น) โยริฟุสะ โทคุกาวะ ลูกชาย และครอบครัว
และยังเป็นสถานที่เก็บต้นฉบับ "ไดนิฮอนชิ (ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น)" และเอกสารโบราณราว 30,000 ชิ้นที่รวบรวมจากทั่วประเทศด้วย
พิพิธภัณฑ์โทคุกาวะเป็นพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวในญี่ปุ่นที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้จำนวนมากของไดเมียว และควรค่าแก่การเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
ภาพถ่ายนี้ได้รับอนุญาตจากพิพิธภัณฑ์โทคุกาวะแล้ว

ดูบทความเพิ่ม

2. ซากปราสาทมิโตะ (Mito Castle Ruins)

ปราสาทมิโตะเป็นปราสาทซึ่งก่อสร้างบนฐานรากของอาคารที่สร้างขึ้นในช่วงปลายยุคเฮอัน (ค.ศ. 794 – 1185) จนถึงต้นยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1185 – 1333) เป็นปราสาทที่พักอาศัยของครอบครัวโทคุกาวะ มิโตะ มาตั้งแต่ช่วงที่แคว้นมิโตะก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1609

 

ป้อมสังเกตการณ์ถูกเพลิงไหม้ในปี 1945 เนื่องจากความเสียหายจากสงคราม ในปัจจุบัน เราจะได้เห็นคันกำแพงดินและคูน้ำที่ยังคงรูปลักษณ์ดั้งเดิมไว้ นอกจากโคโดคังซึ่งเป็นโรงเรียนไดเมียวของแคว้นที่สร้างอยู่ในซันโนะมารุ (รั้วปราสาทรอบนอกที่ห้อมล้อมนิโนะมารุไว้) และประตูยาคุอิมงของฮงมารุ (ป้อมศูนย์กลางปราสาท) ยังมีประตูโอเทมง และป้อมซึมิยาคุระ (ป้อมสังเกตการณ์ตรงมุมปราสาท) ของนิโนะมารุ (ปราสาทที่อยู่รอบนอกฮงมารุ) ซึ่งได้รับการบูรณะโดยใช้เอกสารทางประวัติศาสตร์อ้างอิง

ข้อมูล

ซากปราสาทมิโตะ (Mito Castle Ruins)

ซากปราสาทมิโตะ (Mito Castle Ruins)

ปราสาทมิโตะคือหนึ่งในปราสาทดินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น สร้างขึ้นระหว่างปลายศตวรรษที่ 12 ถึงต้นศตวรรษที่ 13
หลังจากเปลี่ยนผู้ปกครองดินแดนนี้หลายครั้ง ในปี 1609 เมื่อโยริฟุซะ โทคุกาวะถูกส่งตัวมาอยู่ที่มิโตะ ปราสาทแห่งนี้จึงกลายเป็นที่พำนักของตระกูลมิโตะ โทคุกาวะ
หลังเอโดะบาคุฟุ (รัฐบาลในสมัยเอโดะ) ล่มสลายในปี 1868 ปราสาทมิโตะถูกทิ้งร้าง อาคารหลายแห่งเสียหาย ถูกทุบทำลายจากสงคราม
ปัจจุบัน คันกำแพงดิน คูน้ำ โคโดคัง (โรงเรียนไดเมียวของแคว้น) และประตูยาคุอิมง (ประตูของป้อมกลางปราสาท) ยังคงอยู่ ส่วนประตูโอเทมงและป้อมซึมิยาคุระ (ป้อมสังเกตการณ์ตรงมุมปราสาท) ของนิโนะมารุ (ปราสาทที่อยู่รอบนอกฮงมารุ) ได้รับการบูรณะตามเอกสารทางประวัติศาสตร์

ดูบทความเพิ่ม

3. โคโดคัง (Kodokan Mito Han School)

อย่าลืมแวะโคโดคังซึ่งอยู่ในบริเวณซันโนะมารุของซากปราสาทมิโตะ โคโดคังเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างเมื่อปี 1841 โดยโทคุกาวะ นาริอาคิ (ค.ศ. 1800 – 1860) ผู้ปกครองของแคว้นมิโตะในขณะนั้น และเป็นโรงเรียนไดเมียวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศอยู่ เรือต่างชาติได้มาเทียบท่าและเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ แต่โทคุกาวะ นาริอาคิกลับคิดว่า สิ่งสำคัญในการปกป้องญี่ปุ่นให้เป็นอิสระจากการรุกรานของต่างชาติรวมถึงการพัฒนาประเทศนั้น ก็คือการสร้างบุคคลผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนี้จึงสร้างโคโดกังขึ้น

ที่นี่เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไปที่สามารถร่ำเรียนวิชาต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ แพทยศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิชาการทหาร และศิลปะการต่อสู้ ปัจจุบันบางส่วนของโคโดคังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น หากมาเยือนที่นี่ จะได้เรียนรู้เรื่องราวการศึกษาของซามูไรวัยเยาว์ในสมัยเอโดะ

ข้อมูล

โคโดคัง (Kodokan Mito Han School)

โคโดคัง (Kodokan Mito Han School)

โคโดคังเป็นโรงเรียนสำหรับไดเมียว (ขุนนาง) ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1841 (ปีเทนโปที่ 12) โดยโทคุกาวะ นาริอาคิ เจ้าครองแคว้นลำดับที่ 9 ในนามตระกูลมิโตะ
โรงเรียนแห่งนี้มีพื้นที่ขนาด 17.8 เฮกเตอร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยเป็นปราสาทมิโตะในอดีต และยังเป็นหนึ่งในโรงเรียนขุนนางที่ใหญ่ระดับต้นๆ ของญี่ปุ่นในสมัยนั้น ภายในโรงเรียนประกอบด้วย อาคารเซโจ (หอประชุม) ชิเซนโด (ห้องโถง) บุนคัน (อาคารทางวรรณกรรม) บุคัน (อาคารฝึกการต่อสู้) อิกักคุคัน (อาคารทางการแพทย์) คาชิมะจินจะ (ศาลเจ้าคาชิมะ) โคชิเบียว (วัดขงจื้อ) ศาลาฮักเคโด (อาคารหลังคาทรงแปดเหลี่ยม) บาบะ (สนามม้า) โจเรนบะ (สนามฝึกซ้อม) และอื่นๆ
แปลนการจัดวางตัวอาคารมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวตามปณิธานในการก่อตั้งโรงเรียน ปัจจุบันพื้นที่ 3.4 เฮกเตอร์
บางส่วนของโคโดคังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกชาติด้านวัฒนธรรมที่สำคัญ

ดูบทความเพิ่ม

4. สวนไคราคุเอน (Kairakuen Garden)

“สวนไคราคุเอน” สถานที่ชมทิวทัศน์สวยงามในเมืองมิโตะ สร้างขึ้นโดยโทคุกาวะ นาริอาคิ ผู้ปกครองของแคว้นมิโตะเช่นกัน เป็นสถานที่พักผ่อนสำหรับนักเรียนของโคโดคังที่ร่ำเรียนอย่างหนัก

ชื่อของอาคารโคบุนเท (Kobuntei) ในสวนนี้มาจากชื่อสายพันธุ์ต้นบ๊วยที่เรียกว่า “โคบุนเท” ซึ่งหมายถึง รักการเรียนรู้ ต้นบ๊วยไม่ได้มีแค่ดอกไม้ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบกันมานานทั้งในญี่ปุ่นและจีนเท่านั้น แต่ยังมีผลไม้ซึ่งสามารถใช้เป็นอาหารยามฉุกเฉินได้ด้วย ดังนั้น โทคุกาวะ นาริอาคิจึงส่งเสริมให้มีการปลูกต้นบ๊วย

ปัจจุบัน สวนไคราคุเอนเป็นจุดชมดอกบ๊วยชื่อดัง และเป็น 1 ใน 3 สวนสวยที่สุดในญี่ปุ่น ส่วนอีก 2 แห่ง ได้แก่ สวนเคนโรคุเอน (Kenrokuen Garden) ในจังหวัดคานาซาวะ (Kanazawa) และสวนโคราคุเอน (Korakuen Garden) ในจังหวัดโอคายามะ (Okayama) เทศกาลดอกบ๊วยมิโตะจัดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกบ๊วยบานเต็มที่

ภายในอาคารโคบุนเท (Kobuntei)ยังมีจุดที่น่าเที่ยวชมมากมาย เช่น ห้องที่ใช้ต้อนรับและจัดงานเลี้ยงเมื่อโทคุกาวะ นาริอาคิเสด็จมาเยือน และบริเวณชั้น 3 ที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองได้

ข้อมูล

สวนไคราคุเอน

สวนไคราคุเอน

สวนไคราคุเอนเป็น "1 ใน 3 สวนที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น" ซึ่งอีก 2 แห่งคือสวนเคนโระคุเอนที่จังหวัดคานาซาวะ และสวนโคราคุเอนที่จังหวัดโอคายามะ สวนแห่งนี้เปิดให้ประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจเมื่อปี 1842 โดยนาริอาคิ โทคุกาวะ ไดเมียวที่ 9 ในตระกูลมิโตะ
สวนไคราคุเอนได้ปลูกต้นบ๊วย 100 สายพันธุ์ราว 3,000 ต้น ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการมาเยือนของฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม สามารถชม “เทศกาลดอกบ๊วย” แล้วต่อด้วยดอกซากุระและดอกสึสึจิหรือดอกอาซาเลียในฤดูใบไม้ผลิ ดอกฮางิ (ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง) ในฤดูใบไม้ร่วง ส่วนต้นฤดูหนาวก็ได้ชมดอกนิคิซาคิซากุระ (ซากุระที่ผลิบานใน 2 ฤดู) ทำให้สวนแห่งนี้ดูสวยงามตลอดทั้งปี

ดูบทความเพิ่ม

5. มิโตะ โทบุคัง (Mito Tobukan)

คำว่า “บุนบุฟุคิ” เป็นวลีที่แสดงถึงนโยบายทางการศึกษาของโคโดคัง มีความหมายว่า วิชาความรู้และศิลปะการต่อสู้ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน “มิโตะ โทบุคัง” สร้างขึ้นเมื่อปี 1876 เป็นโดโจหรือสถานที่เพื่อรับและถ่ายทอดศิลปะป้องกันตัวของโคโดคัง

ปัจจุบันสถานที่นี้ยังคงสอนศิลปะการป้องกันตัวดั้งเดิมของญี่ปุ่น เช่น เคนโด (ศิลปะการต่อสู้ด้วยดาบไม้) นากินาตะโด (ศิลปะการต่อสู้ด้วยง้าวญี่ปุ่น) และอิไอโด (ศิลปะการฟันดาบในชั่วพริบตา) ชิบะ ชูซาคุ ปรมาจารย์นักดาบผู้ก่อตั้งสำนักดาบ รวมถึงโดโจที่รับและถ่ายทอดศิลปะการฟันดาบสายโฮคุชินอิตโตริว ได้มาเป็นปรมาจารย์สอนศิลปะการต่อสู้ของโคโดคัง ตามคำเชิญของโทคุกาวะ นาริอาคิ

นอกจากการเยี่ยมชมโทบุคังแล้ว ยังสามารถร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ได้ด้วย ท่านที่สนใจศิลปะการต่อสู้ต่างๆ อย่างเคนโด นางินาตะโด อิไอโด และอื่นๆ สามารถติดต่อที่สมาคมการท่องเที่ยวมิโตะ (Mito Tourist Information Center) ได้เลย

6. "อาคารหลักของโรงเรียนประถมมิสึไคโดเก่า" ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ (Ibaraki Prefectural Archives and Museum)

เมื่อยุคสมัยเอโดะสิ้นสุดลงจากการปฏิรูปสมัยเมจิ (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) ญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ผ่านการแลกเปลี่ยนที่มีชีวิตชีวากับต่างชาติ เพื่อก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ ญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ด้วย ดังนั้น จึงมีการสร้างโรงเรียนไม้สองชั้นโดยใช้องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกในแต่ละท้องถิ่นทั่วญี่ปุ่น

หนึ่งในนั้นอยู่ที่มิสึไคโด (ปัจจุบันคือเมืองโจโซ) ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองในการขนส่งทางเรือ ปัจจุบัน “อาคารหลักของโรงเรียนประถมศึกษามิสึไคโดเก่า” ได้ย้ายมาที่เมืองมิโตะ ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับ “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ”

ภายในอาคารจัดแสดงสิ่งของที่สื่อถึงสภาพการศึกษาระดับประถมศึกษาในสมัยเมจิ มีตั้งแต่โต๊ะและเครื่องเขียนที่นักเรียนใช้ รวมถึงตารางวิชาเรียน ตารางเวลาเรียน และตารางเมนูอาหารกลางวันของสมัยนั้นให้ดูด้วย หลังจากสัมผัสเรื่องราวการศึกษาของซามูไรในสมัยเอโดะที่โคโดคัง การได้รู้ถึงเรื่องราวการศึกษาสมัยใหม่ของญี่ปุ่นที่โรงเรียนประถมมิสึไคโดเก่าก็น่าสนุกเช่นกัน

ส่วน “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ” จะจัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโจมงให้ชม ที่นี่ยังเป็นสถานที่ชมใบไม้เปลี่ยนสีชื่อดัง เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง จะได้เห็นต้นแปะก๊วยที่เรียงรายอยู่ด้านหน้าโรงเรียนประถมมิสึไคโดเก่าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองงดงาม มีการประดับไฟไลต์อัพในช่วงเวลาจำกัด หากมาเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนต้องลองแวะไปชมด้วยนะ

ข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดอิบารากิ

พิพิธภัณฑ์ที่สามารถสัมผัสประวัติศาสตร์ของจังหวัดอิบารากิ และเพลิดเพลินกับความงามของสวนได้ทั้ง 4 ฤดูกาล
ก่อตั้งในปี 1974 และยังเป็นหอจดหมายเหตุที่เก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ของจังหวัดอิบารากิ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งอยูบนพื้นที่ขนาดใหญ่ 72,000 ตร.ม. มีบ้านเรือนสมัยเอโดะ (ปี 1603 - 1868) และอาคารเรียนสไตล์ตะวันตกในสมัยเมจิ (ปี 1868 - 1912)
และยังเป็นสถานที่ชมต้นแปะก๊วยสีเหลืองสดใสในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นไฮไลต์หนึ่งในฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่น

ดูบทความเพิ่ม

7. ศาลเจ้าคาชิมะ (The Kashima Jingu Grand Shrine)

ศาลเจ้าคาชิมะในเมืองคาชิมะ (Kashima) เป็นหนึ่งในศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งบูชาทาเคมิคะซุชิโนะโอคามิ เทพเจ้าแห่งศิลปะการต่อสู้และการก่อตั้งประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีเทพเจ้าประจำศาลเจ้าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะการต่อสู้แล้ว ในห้องสมบัติ (ปัจจุบันปิดทำการ) ของศาลเจ้ายังมี “โชคุโตะ” ดาบเทพเจ้าที่มีความยาวรวมกว่า 2.7 เมตร ซึ่งสร้างเมื่อ 1300 ปีก่อน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าศาลเจ้าคาชิมะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมของญี่ปุ่น

บริเวณศาลเจ้าคาชิมะกว้างขวาง และมีจุดเที่ยวชมมากมายระหว่างทางเดินไปนมัสการศาลเจ้าตั้งแต่ประตูโรมง (ประตูใหญ่ที่สร้างเหมือนอาคาร 2 ชั้น) ไปจนถึงศาลฮนเด็น (ศาลเจ้าหลัก) มีกวางอยู่ในกรงใกล้กับศาลฮนเด็น กวางถือเป็นผู้ส่งสารของเทพเจ้าจึงมีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต ว่ากันว่ากวางที่เห็นในเมืองนาราเป็นลูกหลานของกวางที่ศาลเจ้าคาชิมะมอบให้ศาลเจ้าคาซุกะไทชะ (Kasuga Taisha Shrine)

 

ข้อมูล

ศาลเจ้าคาชิมะ

ศาลเจ้าคาชิมะ

ศาลเจ้าคาชิมะสร้างขึ้นในช่วง 660 ปีก่อนคริสตกาล เป็น 1 ใน 3 ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคคันโต มีเทพเจ้าประจำศาลเจ้าคือ ทาเคมิคะซุชิโนะโอคามิ เทพแห่งการต่อสู้ของนิกายชินโต และได้รับการเคารพสักการะจากราชวงศ์ตั้งแต่อดีต รวมถึงผู้ปกครองบ้านเมืองและซามุไรส่วนใหญ่ในสมัยคามาคุระก็เลื่อมใสในเทพองค์นี้เช่นกัน
“โรมอน” คือประตูประจำศาลเจ้าที่ได้รับการยกย่องให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญ โทคุกาวะ โยฟุซะ เจ้าครองแคว้นลำดับแรกในตระกูลมิโตะได้สร้างถวายให้กับศาลเจ้าในปี 1634
ที่นี่มีการจัดงานและเทศกาลต่างๆ มากกว่า 80 งานตลอดทั้งปี ทุกปีในช่วงปีใหม่จะมีนักท่องเที่ยวราว 6 แสนคนไปนมัสการขอพรให้มีทักษะด้านกีฬาด้านศิลปะการต่อสู้ที่ดีขึ้น ชนะการแข่งขัน คลอดลูกอย่างปลอดภัย ประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง และธุรกิจเจริญรุ่งเรือง

ดูบทความเพิ่ม

ไปเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในจังหวัดอิบารากิกัน

หากได้มาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่กระจายอยู่ทั่วจังหวัดอิบารากิ จะสดใสมีชีวิตชีวาและรู้ถึงประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแจ่มชัดยิ่งขึ้น ตระเวนเที่ยวชมชมสถานที่ต่างๆ ในเมืองมิโตะและเมืองคาชิมะไปเรื่อยๆ สนุกกับการย้อนเวลาไปช่วงเวลาสมัยเอโดะซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่กัน